น้ำผึ้ง (Honey) คือผลผลิตของน้ำหวานจากดอกไม้และจากแหล่งอื่น ๆ ที่ผึ้งงานนำมาเก็บสะสมไว้ โดยผ่านขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและทางเคมีแล้วสะสมไว้ในรังผึ้ง ซึ่งปกติแล้วน้ำผึ้งจะมีกลิ่น รส สี ที่ต่างกันออกไปตามชนิดของพืชนั้น ๆ จึงทำให้สามารถระบุชนิดของน้ำผึ้งตามชนิดของพืชนั้นได้ ๆ เช่น น้ำผึ้งจากดอกส้ม ดอกลำไย ดอกลิ้นจี่ ก็จะแตกต่างกันออกไป ซึ่งนิยมนำมาใช้เป็นสารให้ความหวานในอาหารหรือเครื่องดื่มนานาชนิด
น้ำผึ้งมีส่วนผสมของน้ำตาลและสารประกอบอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นฟรักโทสกับกลูโคส และมีวิตามินและแร่ธาตุผสมอยู่ด้วย เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 5 วิตามินบี 6 กรดโฟลิก วิตามินซี ธาตุแคลเซียม ธาตุแมกนีเซียม ธาตุโซเดียม ธาตุโพแทสเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก ธาตุทองแดง ธาตุสังกะสี เป็นต้น สำหรับสารประกอบอื่น ๆ ที่มีอยู่ในปริมาณเพียงน้อยนิดนั้นจะเป็นสารที่ทำหน้าที่ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระเป็นหลัก
ประโยชน์ของน้ำผึ้ง
- ช่วยเพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกาย
- มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอวัย
- ช่วยลดและป้องกันการเกิดริ้วรอยแห่งวัย
- ช่วยบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งสดใส ดูมีน้ำมีนวลเป็นธรรมชาติ
- พอกหน้าด้วยน้ำผึ้งช่วยบำรุงผิวหน้าให้ดูอ่อนเยาว์ ชุ่มชื่น และนุ่มนวล หลังล้างหน้าเสร็จให้นำกล้วยหอมครึ่งลูก นำมาบดผสมรวมกับน้ำผึ้งแล้วนำมาทาหน้าทิ้งไว้ประมาณ 15 นาทีแล้วล้างออก
- ช่วยบำรุงรักษาผิวหน้าที่แห้งแตกลอกเป็นขุย ด้วยการนำไข่แดง 1 ฟองผสมกับน้ำผึ้งผสม 1 ช้อน คนให้เข้ากันแล้วนำมาพอกหน้าทิ้งไว้ 10 นาทีแล้วล้างออก
- ช่วยบำรุงสมอง ช่วยในเรื่องของความจำ
- ช่วยปกป้องผิวจากรังสี UV และช่วยเสริมสร้างเซลล์ผิวหนัง
- ช่วยบำรุงเส้นผมให้นุ่มสวยเงางาม หลังสระผมเสร็จให้นำน้ำผึ้งผสมกับน้ำมะกอกอย่างละ 3 ช้อนโต๊ะ นำมาชโลมให้ทั่วศีรษะทิ้งไว้ประมาณ 5 นาทีแล้วล้างออก
- ช่วยบำรุงเสียงให้ใส ลดอาการเจ็บคอช่วยลดสิวเสี้ยน สิวอุดตันบนใบหน้า หลังล้างหน้าด้วยน้ำอุ่นเสร็จแล้วให้นำกล้วยหอมครึ่งลูก นำมาบดผสมรวมกับน้ำผึ้งแล้วนำมาทาหน้าทิ้งไว้ประมาณ 15 นาทีแล้วล้างออก
- นิยมนำมาใช้ผสมในเครื่องต่าง ๆ เช่น นม ชา กาแฟ โยเกิร์ต น้ำมะนาว หรือแม้กระทั่งเบียร์หรือไวน์
- นำมาใช้เป็นส่วนผสมในขนมหวานต่าง ๆ หรือผลิตภัณฑ์ธัญพืชต่าง ๆ
- ใช้น้ำผึ้งแทนสารกันบูดในน้ำสลัด ซึ่งจะทำให้น้ำสลัดไม่เสียและเก็บได้นานถึง 9 เดือน
- น้ำผึ้งสามารถนำมาแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย เช่น มาส์กหน้า สบู่ เจลล้างหน้า สครับ เป็นต้น
- น้ำผึ้งเป็นยาอายุวัฒนะ
- ช่วยให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ต้านทานโรคต่าง ๆ ได้ดี
- ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตในวัยเด็ก
- ช่วยเพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกาย
- ช่วยผ่อนคลายความเหนื่อยล้าอ่อนเพลียจากการทำงานหรือเล่นกีฬา
- ช่วยเสริมสร้างสุขภาพของผู้ป่วยในระยะพักฟื้น หรือผู้สูงอายุ
- ช่วยบรรเทาอาการของโรคต่าง ๆ ให้ดีขึ้น
- ช่วยในควบคุมน้ำหนักและลดความอ้วน
- ช่วยบำรุงเลือดในร่างกาย ด้วยการใช้น้ำผึ้งครึ่งช้อนโต๊ะใส่แก้ว แล้วบีบมะนาว 1 ซีก ใส่เกลือเล็กน้อย แล้วเติมน้ำร้อนดื่ม
- ช่วยรักษาอาการหวัดให้หายเร็วขึ้น
- น้ำผึ้งสามารถบรรเทาอาการไอจากหวัดในเด็กได้ดีกว่ายาแก้ไอ
- ช่วยรักษาอาการเมาค้าง
- ช่วยปรับสมดุลในร่างกายให้คงที่
- น้ำผึ้งมีฤทธิ์ยาระงับประสาทอ่อน ๆ จึงช่วยลดอาการหงุดหงิด ความกังวลได้
- ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับและช่วยทำให้หลับสบายยิ่งขึ้น
- ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง ด้วยการใช้น้ำผึ้งและงาดำอย่างละ 50 กรัม โดยนำงาดำมาตำให้ละเอียดแล้วผสมกับน้ำผึ้ง ชงกับน้ำร้อนดื่ม
- ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ด้วยการใช้สาลี่หอมจำนวน 5 ลูก น้ำผึ้ง 250 กรัม โดยปอกลูกสาลี่แล้วนำมาตำให้ละเอียด นำไปคลุกกับน้ำผึ้งแล้วต้มจนเหนียว แล้วนำมาผสมกับน้ำกิน
- ช่วยรักษาโรคโลหิตจาง เพราะน้ำผึ้งมีส่วนผสมของธาตุเหล็กซึ่งช่วยในการเพิ่มเม็ดเลือดแดง
- ช่วยบำรุงหัวใจ ขับชีพจร และป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ช่วยบำรุงและรักษาโรคตับ
- ช่วยระงับความร้อนในร่างกาย
- ช่วยรักษาอาการตาอักเสบจากการติดเชื้อ เช่น กระจกตาอักเสบ เยื่อตาอักเสบ เป็นต้น
- ช่วยบรรเทาอาการไอ หลอดลมอักเสบ มีเสมหะ ด้วยการชงดื่มกับน้ำมะนาว
- น้ำผึ้งช่วยลดกรดในกระเพาะ ช่วยในการย่อยอาหาร เพราะน้ำผึ้งจะถูกดูดซึมทันทีเมื่อถึงลำไส้ ซึ่งต่างจากน้ำตาลชนิดอื่น
- ช่วยรักษาโรคกระเพาะ
- ช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือท้องเสียอย่างรุนแรง
- ช่วยแก้อาการท้องเดินและช่วยบำรุงลำไส้ที่อักเสบให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น
- ช่วยแก้ปัญหาช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแคนดิดา (Candida) ได้ดีพอ ๆ กับยาฆ่าเชื้อแผนปัจจุบัน
- ช่วยแก้อาการเด็กปัสสาวะรดที่นอนเป็นประจำ เพราะช่วยดูดความชื้นและช่วยอุ้มน้ำไว้
- ช่วยบรรเทาอาการของโรคริดสีดวงทวาร ด้วยการนำกระเทียมผสมกับน้ำผึ้ง รับประทานวันละ 3 ครั้ง
- ช่วยป้องกันการเกิดโรคข้ออักเสบ ด้วยการใช้น้ำส้มนำมาผสมกับแอปเปิลไซเดอร์ 2 ช้อนชาลงในน้ำร้อน แล้วเติมน้ำผึ้ง 1 ช้อนชา ชงดื่มวันละสองครั้ง
- ช่วยแก้อาการตะคริวหรือป้องกันการเป็นตะคริว
- ช่วยแก้อาการท้องผูก ด้วยการรับประทานกล้วยน้ำว้าสุกจิ้มกับน้ำผึ้ง ช่วยลดอาการท้องผูกลงได้
- ช่วยลดการอักเสบของบาดแผล
- ช่วยป้องกันการติดเชื้อของบาดแผลและช่วยให้แผลหายเร็ว
- ช่วยรักษาโรคฮ่องกงฟุตและกลากเกลื้อน
- ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและต่อต้านจุลินทรีย์
- ช่วยแก้ปัญหาเด็กแหวะนม โดยใช้น้ำผึ้งผสมกับนมดื่ม
- ใช้เป็นน้ำกระสายยา
น้ําผึ้งแท้ดูยังไง
การเลือกน้ำผึ้งแท้มารับประทานนั้น ในปัจจุบันเป็นเรื่องยากมากที่จะตรวจสอบว่าน้ำผึ้งที่คุณซื้อมาจะเป็นน้ำผึ้ง 100% หรือเปล่า เพราะในผู้ผลิตบางรายอาจจะใส่สารปลอมแปลงลงไปผสมในน้ำผึ้งเพื่อให้เจือจาง นอกจากจะตรวจสอบในห้องปฏิบัติการเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่ามันก็มีราคาแพงมากและเป็นเรื่องที่ยุ่งยากนั่นเอง แต่สิ่งที่ดีที่สุดก็คือการซื้อมาจากเจ้าที่เราไว้ใจได้จริง ๆ หรือไม่เราก็ควรประเมินด้วยสาตาเปล่า ๆ ของเรานี้แหละ มาดูวิธีการเลือกน้ำผึ้งกัน
- ให้ดูที่ความเข้มข้นและความหนืดเป็นหลัก เพื่อให้มั่นใจว่าในน้ำผึ้งนั้นไม่มีน้ำผสมอยู่
- ดูจากสี สีต้องเป็นธรรมชาติ คือสีเหลืองอ่อนถึงน้ำตาลใส และไม่ขุ่นทึบ
- ต้องมีกลิ่นหอมตามชนิดของดอกไม้นั้น ๆ เช่น น้ำผึ้งจากดอกลิ้นจี่ น้ำผึ้งจากดอกลำไย
- ต้องสะอาด ไม่มีกาก ไขผึ้ง หรือมีเศษของตัวผึ้งปะปนอยู่ รวมไปถึงวัสดุแขวนลอยต่าง ๆ
- น้ำผึ้งต้องไม่แยกชั้นและต้องเป็นเนื้อเดียวกัน
- ต้องไม่มีการใส่สารปรุงแต่งรส กลิ่น หรือสี ลงในน้ำผึ้ง
- ต้องไม่มีกลิ่นเปรี้ยว กลิ่นบูด และต้องไม่มีฟอง
- น้ำผึ้งแท้เมื่อนำมาหยดใส่กระดาษไข ถ้าเป็นน้ำผึ้งแท้จะไม่ซึมอย่างแน่นอน
- ในบางครั้งน้ำผึ้งที่นำมาขายนั้นอาจจะได้มาจากน้ำหวานของเกสรดอกไม้ที่เป็นพิษ เช่น น้ำหวานจากดอกไม้ต้นตาตุ่มทะเล ดังนั้นก่อนซื้อควรสอบถามให้แน่ใจเสียก่อนถึงที่มาของน้ำผึ้ง
- ข้อสุดท้ายทดสอบโดนการหยดน้ำผึ้งลงในแก้วน้ำชา แล้วสังเกตการละลายถ้าเป็นน้ำผึ้งแท้เมื่อคนเข้ากันแล้วน้ำผึ้งจะไม่ละลายทันที
ผู้ที่ไม่ควรรับประทานน้ำผึ้ง
- ผู้ที่มีอาการแพ้น้ำผึ้งหรือเกสรน้ำผึ้ง
- มีคำแนะนำว่าไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบรับประทานน้ำผึ้ง
- ผู้ที่น้ำเหลืองเสีย มีตุ่มหนอง มีฝีพุพอง หรือโรคคุดทะราดต่าง ๆ หรือผู้ที่มีอาการเสมหะพิการ (เสมหะมากและมีภาวะโรคปอดแทรก)
- สุดท้ายคือ คนที่ดีพิการ(มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง)
แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (EN), USDA National Nutrient Database
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)