นพ.นันทพล พงศ์รัตนามาน อาจารย์ที่ปรึกษา แผนกศัลยศาสตร์หลอดเลือด ร.พ.พระมงกุฎเกล้า หรือ หมอท็อป ระบุไว้ในหนังสือ “อายุยืน 100 ปีง่ายแค่นี้เอง” ว่า การดื่มน้ำสำคัญต่อระบบการทำงานในร่างกายของเรา แต่หากเลือกช่วงเวลาในการดื่มน้ำที่เหมาะสม จะยิ่งช่วยส่งเสริมสุขภาพให้ดีขึ้นในหลายๆ ด้านได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพโดยรวม ระบบเผาผลาญพลังงาน การทำงานของฮอร์โมนต่างๆ และภูมิคุ้มกันโรคก็จะดีมากกว่าคนอื่นๆ ที่ดื่มน้ำในปริมาณใกล้เคียงกัน แต่คนละเวลา
เมื่อไรก็ตามที่เราดื่มน้ำเมื่อหิว แปลว่าร่างกายกำลังเข้าสู่ภาวะขาดน้ำ (dehydration) ซึ่งภาวะนี้อาจทำให้ร่างกายเกิดอาการเวียนหัว ตัดสินใจไม่ฉับไว ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยอยู่ การทำงานของระบบเผาผลาญแย่ลง การนอนหลับผิดปกติ การทำงานของฮอร์โมนผิดปกติ ดังนั้นเราจึงควรดื่มน้ำในเวลาที่จำเป็นและไม่ควรปล่อยให้ร่างกายรู้สึกหิวน้ำขึ้นมาบ่อยๆ
น้ำ ที่ดีที่สุดกับร่างกาย คือ น้ำเปล่า ไม่จำเป็นต้องเป็นน้ำแร่หรือน้ำที่มีการเติมสารวิตามินต่างๆ แต่อย่างใด เพียงแต่เลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการดื่มน้ำให้มากขึ้นเท่านั้น
8 เวลาที่ควร “ดื่มน้ำ” ช่วยลดไขมัน-เพิ่มภูมิคุ้มกัน
- หลังตื่นนอน หลังจากที่ร่างกายไม่ได้ดื่มน้ำเลยแม้แต่หยดเดียวระหว่างที่เข้านอนเป็นเวลา 6-8 ชั่วโมง (ตามเวลานอนปกติ) เราจึงควรรีบดื่มน้ำทันทีหลังจากตื่นนอน เพื่อให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ลดอาการเวียนศีรษะ มึนๆ งงๆ เพราะขาดน้ำเป็นเวลานาน ดังนั้นหลังตื่นนอนควรดื่มน้ำอย่างน้อย 1 แก้ว (200 cc.) เพื่อเติมน้ำและสร้างความสดชื่นให้กับร่างกายเคล็ดลับในการดื่มน้ำหลังตื่นนอน ควรดื่มน้ำหลังตื่นนอนทันทีโดยไม่ต้องแปรงฟัน เพราะแบคทีเรียในช่องปากหลังตื่นนอนที่เราดื่มน้ำตามลงไปด้วย จะช่วยทำให้การทำงานของระบบขับถ่ายดีขึ้นได้อีกด้วย
- ขณะ/หลังออกกำลังกาย การออกกำลังกายทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำผ่านทางเหงื่อมากขึ้นกว่าปกติ ดังนั้นไม่ควรปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำทั้งในขณะที่ออกกำลังกายและหลังออกกำลังกาย เราควรจิบน้ำเล็กน้อยระหว่างออกกำลังกายเรื่อยๆ ไม่ให้ร่างกายรู้สึกขาดน้ำตลอดการออกกำลังกาย แต่ไม่ควรดื่มน้ำหมดทั้งแก้วใหญ่ๆ หรือหมดขวดในครั้งเดียว เพราะอาจทำให้เกิดอาการจุกเสียดขึ้นได้ การดื่มน้ำระหว่างออกกำลังกาย นอกจากจะช่วยให้ประสิทธิภาพของการออกกำลังกายดีขึ้นแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการเวียนศีรษะ และหน้ามืดระหว่างออกกำลังกายได้อีกด้วยเคล็ดลับในการดื่มน้ำระหว่างและหลังออกกำลังกาย สามารถดื่มน้ำเปล่าธรรมดาๆ ได้เลย ไม่จำเป็นต้องเป็นน้ำเกลือแร่ เพราะน้ำเกลือแร่มีน้ำตาลสูง 1 ขวดประมาณ 6-10 ช้องชา ที่ค่าน้ำตาลที่เราควรได้รับต่อวันเพียง 6 ช้อนชาเท่านั้น น้ำเกลือแร่เหมาะกับคนที่ออกกำลังกายหนักมากๆ เท่านั้น ถ้าออกกำลังกายตามปกติ ดื่มน้ำเปล่าธรรมดาก็เพียงพอแล้ว โดยจะดื่มน้ำเย็นหรือน้ำอุณหภูมิห้องก็ได้ แต่ไม่แนะนำน้ำอุ่นหรือน้ำร้อน เพราะอาจทำให้ร่างกายอุณหภูมิสูงขึ้นได้
- ก่อนรับประทานอาหาร 30 นาที การดื่มน้ำก่อนรับประทานอาหาร 30 นาที จะเป็นการกระตุ้นร่างกายว่า เรากำลังจะเริ่มรับประทานอาหารเข้าไปแล้วนะ เพื่อให้ระบบย่อยอาหารเตรียมพร้อมต่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้การดื่มน้ำก่อนรับประทานอาหารยังอาจทำให้เราอิ่มเร็วขึ้น มีความอยากอาหารน้อยลง จึงเป็นวิธีที่ดีต่อคนที่กำลังลดน้ำหนักอยู่ด้วย แต่ไม่ควรดื่มน้ำก่อนรับประทานอาหารมากเกินไป อาจทำให้จุกเสียดท้องได้
- ก่อนอาบน้ำ การดื่มน้ำในช่วงก่อนอาบน้ำ เหมาะสำหรับคนที่ชอบอาบน้ำอุ่น เพราะการอาบน้ำอุ่นทำให้เลือดไหลเวียนไปตามผิวหนังมากยิ่งขึ้น เลือดส่งไปเลี้ยงสมองน้อยลง และอาจเสี่ยงต่ออาการเวียนศีรษะ หรือหน้ามืดจากภาวะความดันโลหิตลดลงได้ ซึ่งเป็นอาการที่อันตรายมาก การดื่มน้ำ 1-2 แก้วก่อนอาบน้ำสามารถช่วยลดความเสี่ยงภาวะความดันตกระหว่างอาบน้ำอุ่นได้ เพื่อป้องกันอาการหน้ามืดระหว่างอาบน้ำอุ่นได้
- ก่อนเข้านอน การดื่มน้ำก่อนเข้านอนจะช่วยลดความเสี่ยงภาวะขาดน้ำระหว่างที่เรานอนไปหลายชั่วโมงได้ แต่อย่าดื่มน้ำก่อนเข้านอนมากจนเกินไป เพราะอาจรบกวนร่างกายให้ต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะระหว่างที่นอนหลับอยู่บ่อยๆ ได้ ดังนั้นเราควรดื่มน้ำไม่เกิน 1 แก้วก่อนเข้านอน หรือหากดื่มน้ำเพียง 1 แก้วแล้วยังทำให้เราต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะกลางดึก แนะนำให้ดื่มน้ำเพียงครึ่งแก้วก็ได้
- เมื่อรู้สึกว่ามีไข้ ไม่สบาย ในช่วงเวลาที่เรามีไข้ ไม่สบาย ร่างกายของเราอุณหภูมิสูงขึ้น การดื่มน้ำช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย และขับความร้อนออกทางปัสสาวะ ทำให้หายไข้ได้ไวยิ่งขึ้น และยังช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย คนที่มีไข้แต่ดื่มน้ำไม่เพียงพอ อาจใช้เวลาในการหายไข้นานกว่าคนที่ดื่มน้ำมากกว่า แต่ไม่ควรดื่มน้ำครั้งเดียวทั้งขวด ควรค่อยๆ จิบระหว่างวันมากกว่า
- เมื่อรู้สึกอ่อนเพลีย หากมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อย เบื่อ หงุดหงิดง่าย อาจเป็นสัญญาณของภาวะขาดน้ำได้ ดังนั้นการดื่มน้ำเย็นๆ สักแก้ว สามารถช่วยให้อาการเหล่านี้ลดลงได้ โดยการดื่มน้ำที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน เพื่อไม่ให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะขาดน้ำ คือน้ำเปล่าประมาณ 2-3 ลิตร และไม่ควรดื่มน้ำรวดเดียวในปริมาณมาก ควรค่อยๆ จิบ ค่อยๆ ดื่มไปตลอดทั้งวันจะดีกว่า
- เมื่อต้องอยู่เฝ้าไข้ผู้ป่วย หรือต้องอยู่ในบริเวณที่เต็มไปด้วยผู้ป่วย ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า การดื่มน้ำช่วยปกป้องร่างกายของเราจากการติดเชื้อจากผู้ป่วยที่อยู่รอบตัวเราได้ เพราะการดื่มน้ำช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันนั่นเอง นอกจากนี้การดื่มน้ำบ่อยๆ ในช่วงที่อยู่กับผู้ป่วย ยังช่วยลดความตึงเครียดและอาการอ่อนเพลียจากการดูแลผู้ป่วยได้อีกด้วย