Knowledge

เรื่องไข่ๆ เข้าใจได้ไม่ยาก

ไข่ไก่ เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ประจำครัวไทยมาช้านาน สามารถนำไปปรุงได้ทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน กระทั่งเวลาที่ยากลำบากที่สุด การปรุงเมนูไข่แบบง่าย ๆ ก็ช่วยชีวิตคนเอาไว้ได้มากแล้ว ไข่จึงเป็นมากกว่าอาหาร แต่เป็นวัฒนธรรมที่อยู่กับการกินของคนไทยมาโดยตลอด

เมนูไข่เป็นเมนูที่ปรุงได้ไม่ยาก และสารอาหารที่ได้จากไข่ถือว่าเหมาะสม แนะนำว่าควรปรุงไข่ให้สุกโดยใช้ความร้อนที่เหมาะสม เช่น ไข่ต้ม ไข่ดาว ไข่เจียว ส่วนเมนูที่ช่วงหลังนี้เริ่มได้รับการพูดถึง อาทิ ไข่ดิบ ไข่ดองน้ำปลา เป็นการบริโภคไข่แบบที่ “ไม่ผ่านความร้อน” ซึ่งที่จริงแล้วค่อนข้างมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาทางสุขภาพมากกว่า หากแนะนำคือไม่ควรบริโภคไข่ในลักษณะนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อเนื่องจากบริโภคอาหารไม่สุกจากการปรุงร้อนได้ เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันและผู้ที่เจ็บป่วยหรือมีโรคประจำตัวอยู่

ข้อควรรู้สำหรับไข่ไก่

1.สารอาหารหลักในไข่ไก่และการปรุง – ไข่ไก่ เป็นที่รู้จักกันว่าคือแหล่งโปรตีนคุณภาพดี ให้กรดอะมิโนครบถ้วน ในไข่ไก่ 1 ฟองขนาดเบอร์ 2 จะให้โปรตีนประมาณ 7 กรัม มีไขมันประมาณ 5 กรัม โดยมีทั้งกรดไขมันอิ่มตัวและไม่อิ่มตัวอยู่รวมกัน และไม่มีคาร์โบไฮเดรต นอกจากนี้ยังมีวิตามินเอ ดี บี 12 และลูทีน เราจึงจัดว่าไข่เป็นอาหารที่ครบถ้วนได้เลยเพียงรับประทานหนึ่งฟอง

2.อายุการเก็บรักษาไข่ไก่ – สำหรับอายุการเก็บรักษาไข่ไก่ เมื่อถึงมือผู้บริโภคอย่างเราแล้ว จะเก็บรักษาไข่ไว้ในตู้เย็นได้นานที่สุดประมาณ 2-3 สัปดาห์ และพื้นที่ในตู้เย็นที่เหมาะแก่การเก็บรักษาไข่ที่สุด คือด้านในของชั้นวาง เพราะมีอุณหภูมิที่เย็นคงที่ และเก็บได้ทั้งถาดไข่ที่ซื้อมาได้เลย แม้บริเวณประตูจะมีการออกแบบให้มีช่องวางไข่ก็ตาม แต่บริเวณประตูจะมีอุณหภูมิที่ไม่คงที่เนื่องจากมีการเปิด-ปิดอยู่เสมอ ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไข่เสียได้ คือ อุณหภูมิที่เปลี่ยนไปมา เร่งให้ไข่เสียไวขึ้น โดยเฉพาะสาเหตุจากเชื้อ Salmonella ที่อาจพบได้บนเปลือกไข่ เราจึงไม่ควรเก็บไข่ไว้นอกตู้เย็น และไม่ควรเก็บไข่ไว้ตรงประตูของตู้เย็น หากต้องการเก็บไข่ให้มากกว่าหนึ่งสัปดาห์ นอกจากนี้เมื่อไข่ถูกเก็บในตู้เย็นแล้วเมื่อนำออกมาข้างนอก ไม่ควรวางทิ้งไว้นอกตู้เย็นเกิน 2 ชั่วโมง เพราะหยดน้ำที่เกิดขึ้นรอบเปลือกไข่หลังจากนำมาวางไว้ในอุณหภูมิห้องจะเป็นปัจจัยให้ไข่เสียได้

3.นานาข้อสงสัยกับไข่ที่หลายคนอยากรู้

  • การบริโภคไข่ไม่ได้กระตุ้นให้เกิดโรคหัวใจ แต่ต้องพิจารณาการได้รับไขมันและอาหารอื่น ๆ ในแต่ละวันทั้งวันร่วมด้วย
  • เมื่อซื้อไข่มาใหม่ ๆ ไม่ควรล้างน้ำก่อนเก็บ เพราะจะทำให้ไข่เสียเร็วขึ้น เนื่องด้วยการล้างจะทำให้เกิดภาวะสุญญากาศภายใต้เปลือกไข่และดึงเอาแบคทีเรียบนเปลือกเข้าไปในไข่ง่ายขึ้น และทำให้ไข่เสียไวขึ้น
  • การแพ้ไข่ ไม่ได้เกิดในคนส่วนใหญ่ ผู้ที่แพ้จะรู้ตัวดีและหลีกเลี่ยงด้วยตนเอง และการแพ้ไข่มักเป็นแต่เด็ก ไม่ค่อยมีรายงานการแพ้ไข่ในตอนโตมาแล้ว

เครดิตที่มา: สสส. – jutiporn wannasiri