Knowledge

คุณค่าทางอาหารของข้าวผัดกะเพรา

ข้าวผัดกะเพรา เป็นอาหารที่ทุกคนมักจะรู้จัก และคุ้มเคยอย่างดี สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเป็นอาหารที่ปรุงง่าย แถมรสชาติก็อร่อย หลายคนเรียกอาหารจานนี้ว่าอาหารสิ้นคิดเพราะเวลาไปกินข้าวที่ร้านอาหารตามสั่งแล้วคิดเมนูไม่ออกว่าจะกินอะไรดี ก็จะนึกถึงข้าวกะเพราไข่ดาวเป็นอันดับต้นๆ

ส่วนประกอบหลัก ได้แก่ ใบกะเพรา กระเทียม พริกขี้หนู น้ำมัน เนื้อไก่ น้ำเปล่า น้ำปลา น้ำตาล พริกไทยป่น และข้าวสุก แต่บางร้านอาจจะใส่ผัก เช่น ถั่วฝักยาว หรือข้าวโพดอ่อน ลงไปด้วย

เริ่มปรุงด้วย การเจียวกระเทียมพอเหลือง ใส่พริกขี้หนู เนื้อไก่ เติมน้ำ ผัดจนสุก ปรุงรสด้วย น้ำปลา น้ำตาล พริกไทยป่น แล้วใส่ใบกะเพราลงไปตอนท้าย ตักข้าวสุกใส่จาน ราดด้วยผัดกะเพรา ทอดไข่ดาววางข้างเป็นอันเสร็จพิธี

คนไทยรู้จักกะเพรามานานแล้ว เป็นผักอย่างหนึ่งต้นเล็ก ๆ ใบมีกลิ่นหอม ใช้แกงกินบ้าง ทำยาบ้าง เป็นพืชซึ่งใช้เป็นอาหารและยาได้เช่นเดียวกับผักพื้นบ้านอีกหลายชนิด แต่เนื่องจากกะเพรามีกลิ่นหอมฉุนและรสเผ็ดร้อน ชาวไทยจึงไม่นิยมกินกะเพราโดยตรงเหมือนผักชนิดอื่นๆ แต่นิยมนำไปเป็นเครื่องปรุงรสชาติและกลิ่นในการประกอบอาหารต่างๆ ตัวอย่างเช่นคนไทยส่วนใหญ่เมื่อนึกถึงกะเพรา ก็มักจะนึกถึงเมนูหรือรายการอาหารยอดนิยมจากกะเพรานั่นคือ ผัดกะเพรา หมู ไก่ เนื้อ ร่วมอยู่ในรายการยอดนิยม คงจะจำกลิ่นผัดกะเพราที่ทั้งฉุนตลบอบอวลไปทั่วทั้งร้านและบริเวณใกล้เคียง

กะเพรามีกลิ่นและรสชาติที่รุนแรงเฉพาะตัว จึงมักนิยมใช้ดับกลิ่นคาวในตำราอาหารไทยเช่น ผัดกบ ผัดปลาไหล ผัดหมู ฯลฯ พล่าปลาดุก พล่ากุ้ง ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นพวกแกงต่างๆ เช่น แกงเลียงใบกะเพรา สำหรับมารดากินหลังคลอดใหม่ๆ เพื่อขับลมบำรุงธาตุให้ปกติเป็นยาขับน้ำนม นอกจากนี้ยังมีแกงป่า แกงเขียวหวาน แกงคั่ว แกงส้มมะเขือขื่น แม้แต่ต้มยำต่างๆ ใส่ใบกะเพราผัดเผ็ดต่างๆทอดใบกะเพราให้กรอบแล้วนำมาโรยหน้าอาหาร ใส่อาหารได้สารพัด

ข้าวกะเพราไก่ไข่ดาวมีพลังงานประมาณ 500-600 กิโลแคลอรี่

ประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการ

  1. ข้าว ให้พลังงานและความอบอุ่น
  2. เนื้อไก่/หมู ไข่ ให้โปรตีนและเกลือแร่ ช่วยในการเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของ ร่างกาย
  3. ใบกะเพรา แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม มีแคลเซียม มีเบต้าแคโรทีนและวิตามินซีทำหน้าที่ร่วมกันเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง
  4. พริก ให้วิตามินซี เบต้าแคโรทีน ความเผ็ดจากสารแคปไซซินในพริกมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ และช่วยขัดขวางสารมะเร็งไม่ให้ทำร้ายเซลล์
  5. กระเทียม ให้สารออร์แกโนซัลเฟอร์ต่อต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรียบางชนิดที่ก่อ มะเร็งได้สามารถกระตุ้นระบบทำลายสารพิษจึงต้านฤทธิ์สารก่อมะเร็งได้
  6. ถั่ว มีเบต้าแคโรทีน และวิตามินซี ที่ช่วยป้องกันอนุมูลอิสระ และมีใยอาหาร ดักจับสารพิษได้
  7. ข้าวโพดอ่อน มีเส้นใยอาหาร ช่วยระบาย ป้องกันมะเร็งลำไส้

เครดิตที่มา : 61chanaprom02