Knowledge

ต้มยำกุ้งอาหารไทยเพื่อสุขภาพ

ต้มยำกุ้ง อาหารประจําชาติ ไทย (Tom Yam Goong)

ต้มยำกุ้ง (Tom Yam Goong) เป็นอาหารที่โด่งดังมากที่สุดของประเทศไทย ชาวต่างชาติจะรู้จักต้มยำกุ้งมากกว่าต้มยำชนิดอื่น ๆ การปรุงต้มยำกุ้งจะเน้นรสชาติเปรี้ยวและเผ็ดเป็นหลัก จะออกเค็มและหวานเล็กน้อย มีเครื่องเทศที่ใส่ในน้ำแกงที่สำคัญคือ ใบมะกรูด ตะไคร้ ส่วนผักที่นิยมใส่ในต้มยำ ได้แก่ มะเขือเทศ เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า ใบผักชี ส่วนเครื่องปรุงที่จำเป็นต้องใส่ คือ มะนาว น้ำปลา น้ำตาล และน้ำพริกเผา

เนื่องจากต้มยำกุ้งเป็นอาหารที่มีรสเปรี้ยว และเผ็ดเป็นหลัก ทำให้รับประทานแล้วไม่เลี่ยน จึงทำให้ต้มยำกุ้งเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมในทั่วทุกภาคของประเทศไทย รวมถึงชาวต่างชาติเองก็ติดอกติดใจในความอร่อยของต้มยำกุ้งเช่นเดียวกัน

คุณค่าทางโภชนาการ
– พลังงาน (กิโลแคลอรี่) 43.47
– โปรตีน (กรัม) 3.6
– ไขมัน (กรัม) 2.15
– คาร์โบไฮเดรต (กรัม) 2.43
– ใยอาหาร (กรัม) 0.9
– แคลเซียม (มิลลิกรัม) 24.66
– เหล็ก (มิลลิกรัม) 0.23

จุดเด่นด้านคุณค่าทางโภชนาการของต้มยำกุ้ง
– มีไขมันน้อย และให้พลังงานต่ำมาก
– คุณค่าของสมุนไพรไทย * ที่มา : ผศ.ดร.อัญชนีย์ อุทัยพัฒนาชีพ และคณะฯ
– หัวหอม : ช่วยบรรเทาอาการหวัด หายใจไม่ออก
– พริกแห้ง : ช่วยเจริญอาหาร ขับลม เป็นยาระบาย ช่วยขับเสมหะ แก้หวัด
– ใบมะกรูด : ช่วยป้องกันและรักษาโรคมะเร็ง
– ตะไคร้ : ลดอาการจุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ
– น้ำมะนาว : ขับเสมหะ แก้กระหายน้ำ แก้ร้อนใน บำรุงเลือด แก้โรคเลือดออกตามไรฟัน

วิธีทำต้มยำกุ้งน้ำข้น

1. นำหม้อตั้งไฟใส่น้ำรอจนเดือดจัด ใส่ข่าซอย ตะไคร้ทุบเล็กน้อยลงไป รอเดือดแล้วใส่เห็ดฟางและหัวกุ้งเพื่อกลิ่นและความมัน ลดไฟเหลือไฟกลางรอจนน้ำซุปเดือดอีกครั้งและมีกลิ่นหอมดี ประมาณ 4 นาที

2. จากนั้นใส่พริกชี้ฟ้าแดง น้ำพริกเผา และน้ำปลาลงไป แล้วคนจนเข้ากัน เมื่อเดือดอีกครั้งใส่เนื้อกุ้งลงไปเอาแค่ให้สุกแค่ 95 เปอร์เซ็นต์ แล้วตามด้วยนมสดข้นจืด อุ่นจนเดือดเล็กน้อยอีกครั้ง ฉีกใบมะกรูดใส่ลงไป ปิดไฟบีบมะนาว แล้วโรยด้วยผักชี

3.เสร็จแล้วตักใส่ชามพร้อมเสิร์ฟ ทานคู่ข้าวสวยร้อนๆ จะอร่อยมากค่ะ

ข้อเสนอแนะ

1.ต้มยำกุ้งตำรับดั้งเดิมจะเป็นน้ำใส สำหรับท่านที่ต้องการทำให้เป็นต้มยำกุ้งน้ำข้น ให้เติมนมสดหรือน้ำกะทิก่อนยกลง เพื่อให้ได้น้ำต้มยำรสเข้มข้นและมีรสมันขึ้น หลังจากเติมนมสดหรือน้ำกะทิไปแล้วสามารถต้มต่อได้อีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อย่าให้นานมากเพราะจะทำให้เกิดการแยกตัวกัน ดูไม่สวยงาม
2.สำหรับต้มยำน้ำข้นนิยมใส่น้ำพริกเผาหรือพริกขี้หนูแห้งทอด เพื่อให้มีสีสันสวยงาม
3.สามารถนำเปลือกกุ้ง หัวกุ้งมาต้มเป็นน้ำสต๊อกได้ โดยการต้มเปลือกกุ้งกับตระไคร้ ข่า ใบมะกรูด ประมาณ 15 นาที จากนั้นกรองเอาแต่น้ำมาใช้
4.ถ้ากุ้งมีขนาดเล็กให้ใส่เห็ดก่อนกุ้ง เพื่อคงความเด้งของกุ้งไว้ จะได้ไม่เหนียวหรือแข็งเวลาทาน
5.ควรรอให้น้ำเดือดก่อนใส่กุ้งและอย่าคนเพราะจะทำให้คาว
6.การรีดมันกุ้งออกมาเคี่ยวต่างหากแล้วจึงใส่ในน้ำต้มยำจะทำให้มีกลิ่นคาว
7.การใส่รากผักชีทุบพอแตกในน้ำแกง จะทำให้ต้มยำมีกลิ่นหอมขึ้น
8.ถ้าชอบเผ็ดมาก ให้ใส่พริกขี้หนูก่อนปิดไฟสัก 5 นาที

ขอขอบคุณ : รองศาสตราจารย์ ดร.ประพันธ์ ปิ่นศิโรดม คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)
เครดิตที่มา : srisawat.ac.th