Knowledge

อุปกรณ์ เครื่องครัว

อุปกรณ์ เครื่องมือที่ใช้ในการประกอบอาหาร เป็นสิ่งจำเป็นต้องมีไว้สำหรับทุกครัวเรือนเพื่อประกอบอาหาร ในปัจจุบันเครื่องมือที่ใช้ในการประกอบอาหารมีความทันสมัยมีมากมายหลายรูปแบบ ช่วยผ่อนแรงผู้ประกอบอาหารได้มาก เช่น เครื่องปั่นไฟฟ้า เครื่องคั้นน้ำผลไม้ กระทะไฟฟ้า เป็นต้น มีหลายราคา ตั้งแต่ราคาถูกถึงราคาแพง ดังนั้นเราควรศึกษาวิธีการใช้ตลอดจนการเก็บรักษาให้ถูกต้อง เพื่อจะให้เครื่องใช้นั้นมีประสิทธิภาพและมีอายุการใช้งานได้นาน

1. หลักการเลือกเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาหาร

เครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาหาร ทำจากวัสดุหลายชนิด มีความทนทานและราคาแตกต่างกัน ในการเลือกซื้อควรพิจารณาให้รอบคอบ เพื่อการใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่และยาวนาน สรุปได้ ดังนี้
1.1 เหมาะสมกับชนิดของอาหาร
1.2 อยู่ในสภาพดี ไม่บุบ งอ
1.3 สะดวกต่อการใช้งาน
1.4 ดูแลรักษาทำความสะอาดได้ง่าย
1.5 ประหยัดเวลาในการหุงต้ม เช่น ร้อนเร็ว ทำความสะอาดง่าย เป็นต้น

2. ความปลอดภัยในการใช้อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาหาร

อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่เลือกใช้งานอย่างเหมาะส่วยให้ทำงานได้ผลงานมีคุณภาพทั้งนี้ผู้ใช้ต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยของตนเอง และบุคคลอื่น เพราะความประมาทเลินเล่ออาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้น ผู้ใช้เครื่องมือควรระมัดระวังตนเองตลอดเวลาระยะเวลาที่ใช้เครื่องมือ โดยยึดหลักการ ดังนี้

2.1 เมื่อใช้ของมีคมต้องระมัดระวัง และเลือกใช้ให้เหมาะสมกับประเภทของงาน เช่น เมื่อปอกผลไม้ไม่ควรใช้มีดสับ เพราะว่ามีดสับมรชีน้ำหนักมาก อาจทำให้มีดบาดมือได้
2.2 อุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบอาหารประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าต้องศึกษาวิธีใช้ให้เข้าใจก่อนการนำมาใช้ และใช้ตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
2.3 อุปกรณ์ชิ้นใดที่ใช้บ่อย ควรวางไว้ใกล้มือ และไม่ควรวางไว้ในที่สูงเกินเอื้อม
2.4 เมื่อหุงต้มอาหารด้วยเตาถ่านควรดับไฟให้หมด อย่าปล่อยทิ้งไว้ ถ้าหุงต้มอาหารด้วยเตาแก๊สจะต้องปิดแก๊สทุกครั้ง
2.5 ในการใช้อุปกรณ์ที่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าก่อนทำความสะอาดหรือถอดชิ้นส่วนต่างๆ จะต้องถอดปลั๊กไฟก่อนเสมอ
2.6 ในการใช้เตาอบไฟฟ้าแบบจานหมุนหรือที่เรียกว่า เตาไมโครเวฟ ก่อนการใช้งานควรศึกษาหลักการวิธีใช้ให้เข้าใจและปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด เพราะว่าจะส่งผลถึงความปลอดภัย เช่น ตั้งเวลาให้เหมาะสมกับชนิดของอาหาร นำอาหารออกจากเตาตามข้อแนะนำที่กำหนด เป็นต้น
2.7 เมื่อยกหม้อหรือกระทะลงจากเตาเพื่อปกป้องกันความร้อนถึงมือ ควรใช้ผ้าจับชองร้อนที่มีความหนาพอเหมาะ
2.8 เมื่อนำอาหารทอดหรือต้ม อย่าหยิบอาหารด้วยมือใส่ลงกระทะในระยะสูงเพราะจะทำให้น้ำหรือน้ำมันกระเด็นลวกมือได้ ควรใช้ทัพพีตักอาหารหรือตะหลิววางลงในกระทะหรือหม้อที่ตั้งไฟ
2.9 การจัดเก็บอุปกรณ์เครื่องใช้ที่มีน้ำหนักมากจะต้องจัดเก็บไว้ด้านล่างของชั้นวางของหรือชั้นล่างของตู้เก็บอุปกรณ์เสมอ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยจากการถูกอุปกรณ์หล่นทับ

3. หลักการดูแลรักษาเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาหาร

อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาหารแต่ละชนิดผลิตจากวัสดุที่แตกต่างจากกัน ดังนั้นเพื่อให้อุปกรณ์เครื่องใช้มีอายุการใช้งานยาวนาน ควรดูแลรักษาและทำความสะอาดหลังการใช้งานทุกครั้ง ดังนี้

3.1 เครื่องมือเครื่องใช้ประเภทสเเตนเลส ควรระวังอย่าให้โดนความร้อนสูงมากเกินไปเพราะจะทำให้เกิดสีดำ สีเทาหรือน้ำตาล เมื่อทำความสะอาดเสร็จแล้วเช็ดให้แห้ง ซึ่งสามารถขัดออกได้โดยใช้ฟองน้ำชุบน้ำผงซักฟอกผสมน้ำส้มสายชู ขัดตรงรอยดำแล้วล้างออกด้วยน้ำ
3.2 เครื่องมือเครื่องใช้ประเภทเหล็ก ให้ใช้น้ำยาทำความสะอาดขัด และล้างให้สะอาดแล้วเช็ดด้วยผ้าสะอาดให้แห้งหรือตากให้แห้งสนิททุกครั้ง เพื่อป้องกันมิให้เป็นสนิมและใช้น้ำมันประกอบอาหารทาให้ทั่ว
3.3 เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากอะลูมิเนียม เมื่อใช้เสร็จแล้วควรทำความสะอาดให้เศษอาหารที่ติดกับภาชนะออกให้หมด และเช็ดให้แห้ง เพราะหากมีเศษอาหารตกค้างในภาชนะนานๆ กรดและด่างในอาหารจะทำให้ภาชนะกร่อน มีผิวขรุขระ เป็นรู และอากเกิดอันตรายจากเศษอาหารที่ตกค้างในรอยขรุขระนั้นได้ เครื่องครัวสเเตนเลสเมื่อใช้เสร็จแล้วให้ทำความสะอาดและเช็ดให้แห้งก่อนนำไปเก็บ หลังจากการใช้งานภาชนะเครื่องครัว ควรทำความสะอาดและจัดเก็บเป็นระเบียบเพื่อความสะดวกในการใช้งาน
3.4 เครื่องมือเครื่องใช้ประเภทเครื่องเคลือบ ระวังอย่าให้ตกหรือกระแทก เพราะจะทำให้กะเทาะแล้วส่วนที่กะเทาะจะเกิดสนิมได้
3.5 เครื่องมือเครื่องใช้ประเภทแก้ว ควรระวังไม่ให้ตกเพราะเครื่องแก้วแตกง่าย และไม่ควรใส่ของที่ร้อนมาก นอกจากแก้วชนิดทนไฟ นอกจากนี้ไม่ควรวางซ้อนกันเพราะอาจจะทำให้ตกมาแตกได้
3.6 เครื่องมือเครื่องใช้ประเภทพลาสติก ไม่ควรใช้ใส่ของร้อนเพราะอาจทำให้บูดเบี้ยวเสียรูป และสีของพลาสติกมีส่วนผสมของสารตะกั่วและปรอทซึ่งอาจจะละลายปนกับอาหารทำให้เป็นอันตรายได้ ในการจัดเก็บเครื่องมือเครื่องใช้ให้จัดเก็บเป็นหมวดหมู่ตามประเภท และลักษณะการใช้งาน เพื่อสะดวกต่อการหยิบใช้ เช่น เก็บจาน ชาม ที่ใช้เตรียมอาหารไว้ด้วยกัน เป็นต้น
3.7 อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่นานๆจึงจะนำมาใช้ ควรห่อด้วยผ้าขาวบาง กระดาษพลาสติก เพื่อป้องกันฝุ่นละอองและป้องกันการเก่าเร็วจากจากสภาพแวดล้อม

4. การใช้และการเก็บรักษาเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาหาร

เครื่องมอเครื่องใช้ในการประกอบอาหารมีอยู่หลายประเภท บางชนิดใช้งานบ่อยๆ บางชนิดใช้น้อย ในการเลือกซื้อเพื่อความคุ้มค่าของเงินควรพิจารณาอย่างรอบคอบ และดูแลรักษาให้ถูกวิธี เพื่อการใช้งานได้ยาวนาน สรุปได้ ดังนี้

4.1 ภาชนะสำหรับหุงต้ม ในการเลือกซื้อภาชนะสำหรับหุงต้ม ควรพิจารณาประโยชน์ใช้สอยและดูแลรักษาอย่างถูกวิธี ดังนี้
4.1.1 หม้อ มีหลายรูปแบบ แต่ละรูปแบบมีประโยชน์ต่างกัน ดังนี้

  • หม้อมีหู มีสองหู หรือ มีฝาปิดและมีหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่สะดวกต่อการใช้การ ใช้สำหรับต้มอาหารทำแกงส้ม แกงจืด เป็นต้น
  • หม้อด้ามยาว เป็นหม้อมีด้ามสำหรับใช้มือจับ มีฝาปิด เหมาะสำหรับต้มอาหาร ทำแกงจืด อุ่นอาหารที่มีปริมาณไม่มากหนัก เป็นต้น
  • หม้อตุ๋น ใช้สำหรับตุ๋นอาหารมีสองชั้น ชั้นล่างใส่น้ำ ชั้นบนมีฝาปิด ใช้ทำอาหารเช่น ไข่ตุ๋น ซุปข้าวพูด เป็นต้น
  • หม้อนึ่ง ใช้สำหรับทำให้อาหารสุกโดยใช้ไอน้ำ เช่น นึ่งข้าว นึ่งห่อหมก นึ่งขนม เป็นต้น
  • หม้ออัดความดัน ใช้สำหรับหุงต้มอาหารให้สุกอย่างรวดเร็ว เช่น ตุ๋นขาหมู ตุ๋นขาหมู เป็นต้น

การเลือกใช้ ให้เลือกที่มีคุณภาพคงทน ที่มีการรับประกันคุณภาพสินค้า

การเก็บรักษา ภาชนะหุงต้ม มีวิธีการดูแลรักษา คือ ล้างหรือเช็ดทำความสะอาดทุกครั้งหลังใช้งาน ถ้าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าควรศึกษาคู่มือ และปฏิบัติตามข้อแนะนำอย่างเคร่งครัด

4.1.2 กระทะ ใช้สำหรับทอด ผัดอาหาร ที่นิยมใช้กันทั่วไป ได้แก่ กระทะไฟฟ้า และกระทะธรรมดาที่ใช้กับแก๊สและเตาถ่าน

  • กระทะไฟฟ้า เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการปรุงอาหารได้สะดวก โดยการเสียบปลั๊กไฟฟ้า สามารถผัดทอดหรือทอดก็ได้ และปรับอุณหภูมิได้
  • กระทะธรรมดา มีทั้งเป็นกระทะก้นตื้น มีด้ามจับและก้นลึก ใช้ทอด ผัดอาหารทั่วไปในการเลือกไม่ควรเลือกกระทะที่ทำด้วยโลหะที่ไม่เป็นสนิม

การเลือกใช้ เลือกขนาดเหมาะสมกับปริมาณอาหารที่ต้องการปรุงมีหูหรือด้ามจับ เพื่อป้องกันไมให้มือโดนความร้อน เช่นกระทะเคลือบเทปลอน กระทะที่ทำด้วยอะลูมิเนียม

การเก็บรักษา สามารถทำได้โดยการทำความสะอาดทุกครั้งหลักจากการใช้งาน ถ้าเป็นกระทะอะลูมิเนียมให้ใช้ฝอยขัดหรือใช้ฟองน้ำล้างจานล้างให้สะอาด ถ้าเป็นกระทะไฟฟ้าระมัดระวังไม่ให้ด้านนอกของกระทะโดนน้ำเพราะถ้ายังไม่แห้งสนิทจะทำให้เกิดไฟฟ้าดูด และที่สำคัญต้องปฏิบัติตามคู่มืออย่างเคร่งครัด

4.1.3 ลังถึง เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการนึ่งอาหาร มีลักษณะเป็นชั้นซ้อนกัน ชั้นล่างสำหรับใส่น้ำ ตั้งแต่ชั้นที่สองเป็นต้นไปสำหรับใส่อาหารที่ต้องการนึ่ง โดยแต่ละชั้นจะมีรูกลมเพื่อให้ไอน้ำขึ้นมาสู่อาหาร ทำให้อาหารสุก

การเลือกใช้ ต้องทำด้วยโลหะที่ทนทาน เบา ไม่เป็นสนิม นำความร้อนได้ดี เช่น อะลูมีเนียม สแตนเลส เป็นต้น ลังถึงในแต่ละชั้นจะต้องวางซ้อนกันได้สนิทและฝาปิดสนิท

การเก็บรักษา ให้ทำความสะอาดทุกครั้งหลังการใช้งาน จัดเก็บเป็นชุดเพื่อสะดวกในการหยิบใช้งาน

4.2 ภาชนะสำหรับใส่อาหารและตักอาหาร เป็นภาชนะที่ใช้สำหรับใส่ส่วนผสมของอาหาร และเครื่องปรุงต่างๆ อันได้แก่ จาน ชาม กะละมังเล็ก ถ้วย ตะแกรง และช้อนสำหรับตักอาหาร เป็นต้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ทำจากวัสดุหลายชนิด เช่น พลาสติก กระเบื้อง สแตนเลส การเลือกใช้ควรพิจารณาเลือกให้เหมาะสม เช่น เลือกขนาดของภาชนะให้เหมาะสมกับปริมาณอาหารที่ตักใส่ ไม่นำชามพลาสติกใส่อาหารที่ร้อนจัด เพราะความร้อนจะทำให้พลาสติกละลายเมื่อรับประทานอาหารเข้าไปจะทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกาย เป็นต้น

การเลือกใช้ การเลือกใช้อุปกรณ์สำหรับใส่อาหารและตักอาหารที่สำคัญ เช่น

4.2.1 ควรเลือกจาน ชาม แบบเรียบ สีอ่อน  หรือไม่ฉูดฉาด จาน ชาม ที่เป็นกระเบื้องมีลวดลายพิมพ์เคลือบไว้สวยงาม หรือถ้วยชามพลาสติกที่มีสีสันฉูดฉาดเมื่อนำมาใส่อาหารที่มีรสจัด หรือของร้อน อาจทำให้ส่งที่ทำลวดลายละลายปนมากับอาหารเพราะว่าสีเหล่านี้จะมีสารตะกั่ว ปรอทผสมอยู่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

4.2.2 ทนต่อการใช้งาน เช่น ถ้วย ชาม สแตนเลสจะไม่ค่อยแตกชำรุด แต่ไม่ค่อยสวยงาม ถ้าต้องการใช้งานเกี่ยวกับคนจำนวนมากและไม่ต้องเป็นพิธีรีตอง เช่น ในงานที่มีคนมาก แม่ค้าขายอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ภาชนะสำหรับตักอาหาร เชน ทัพพีตักข้าว ตะหลิว ช้อน ส้อม ควรเลือกที่มีความทนทานในการใช้งาน

การเก็บรักษา ให้ทำความสะอาดทุกครั้งหลังการใช้งาน หรืออุปกรณ์เครื่องใช้ที่ไม่ได้ใช้งานนานๆ ต้องนำมาทำความสะอาดก่อนใช้งานทุกครั้งจานชามที่ล้างเสร็จแล้วควรคว่ำเรียงกันให้แห้งสนิทก่อนนำไปเก็บในตู้เก็บอุปกรณ์

4.3 เครื่องมือ หัน สับ บดอาหาร เป็นเครื่องมือที่ใช้แยกชิ้นอาหารให้ได้ตามรูปลักษณะที่ต้องการ เช่น เป็นชิ้นสี่เหลี่ยม เพื่อสะดวกในการปรุง เช่น

4.3.1 มีด มีหลายชนิด เช่น มีดสำหรับหั่น มีไว้สำหรับหั่นเนื้อ หั่นผัก ผลไม้ มีลักษณะปลายแหลม บาง คม ยาวประมาณ ๘๑๐ นิ้ว มีด้ามจับเหมาะมือ มีดปอก มีลักษณะปลายแหลม บาง น้ำหนักเบา มีหลายขนาดไว้สำหรับปอกผลไม้ มีดสับ เป็นมีดที่มีน้ำหนักมาก มีขนาดใหญ่กว่ามีดอื่นๆ 

การเลือกใช้ มีความคม ด้ามมีดทนทาน แข็งแรง และดูแลรักษาง่าย

การเก็บรักษา ทำความสะอาดหลังการใช้งาน จัดเก็บเมื่อแห้งสนิท และมิดชิดพ้นมือเด็ก

4.3.2 เขียง เป็นเครื่องมือที่รองรับการหั่น สับอาหาร คู่กับมีด

การเลือกใช้ ให้เลือกใช้เขียงที่ทำจากเนื้อไม้แข็ง ไม่มีรอยแตกร้าว

การเก็บรักษา ควรทำความสะอาดหลังการใช้งาน ก่อนการจัดเก็บต้องให้เขียงแห้งสนิทมิฉะนั้นอาจขึ้นราได้

4.3.3 ครก เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับตำส่วนผสมของอาหารหรือเครื่องปรุงให้ละเอียด มีทั้งครกหินและครกดินเผา

การเลือกใช้ ครกหิน ใช้สำหรับตำพริกแกง ควรเลือกที่เป็นหินแท้ รูปทรงไม่บิดเบี้ยว สากที่ใช้ควรทำจากหินแท้ ส่วนครกดินเผา ใช้สำหรับบุบวัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหาร เช่น พริก ตำส้มตำ ควรเลือกที่มีน้ำหนักมาก รูปทรงไม่บิดเบี้ยว มีก้นลึก สากที่ใช้ควรเป็นสากที่ทำจากไม้

การเก็บรักษา ทำความสะอาดหลังการใช้งานทุกครั้ง และคว่ำให้ครกแห้งสนิทก่อนเก็บ

ในปัจจุบันมีเครื่องบด หั่น อาหารไฟฟ้า เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ปัจจุบันนิยมใช้อย่างแพร่หลาย เพราะสามารถช่วยในการบดหรือหั่นอาหารให้ละเอียดได้ตามความต้องการในระยะเวลารวดเร็ว ในการเลือกใช้ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีการรับประกันสินค้า มีประสิทธิภาพในการใช้งานสูง สามารถใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ เก็บรักษาง่าย การดูแลรักษา ให้ทำความสะอาดหลังการใช้งานทุกครั้ง